วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557

‘ท่าเรือระนอง’ ทางลัดมหาสมุทรอินเดีย ส่องตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสเอสเอ็มอี


‘ท่าเรือระนอง’ ทางลัดมหาสมุทรอินเดีย ส่องตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสเอสเอ็มอี

“ปัจจุบันเมียนมาร์ใช้การขนส่งที่ท่าเรือปีนังไปยังกลุ่มประเทศที่ 3 ซึ่งการเปิดท่าเรือระนองจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เพราะมะริดเป็นจังหวัดที่มีสินค้าประมงมากที่สุดในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งร้อยละ 80 อาหารทะเลส่งเข้าประเทศ ไทยทางจังหวัดระนอง ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ทำการแปรรูปและส่งไปยังประเทศที่สาม”
วันจันทร์ 13 ตุลาคม 2557 เวลา 00:00 น.



การเปิดเสรีอาเซียนที่จะถึง ทำให้มีการปลุก “ท่าเรือระนอง” บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ให้มาคึกคักอีกครั้ง นอกจากการขนส่งสินค้าไปยังพม่าที่เนื้อหอมหลังจากเปิดประเทศแล้ว นี่ยังเป็นเส้นทางลัดการเดินเรือฝั่งอันดามันและมหาสมุทรอินเดียที่ใช้เวลาเดินทางเพียง 4-7 วัน จากเดิมต้องมายังท่าเรือกรุงเทพฯหรือแหลมฉบัง ก่อนเดินเรืออ้อมผ่านสิงคโปร์ ใช้เวลาประมาณ 15–20 วัน

พิฑญาฬ์ เดชารัตน์ ผู้จัดการท่าเรือระนอง กล่าวว่า ท่าเรือระนองเปิดครั้งแรกเมื่อปี 2542 ตอนนั้นเรือที่เข้ามาเป็นเรือขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ยังไม่เอื้ออำนวยเลยทำให้สินค้าไม่เพียงพอต่อเที่ยวเรือ และทำให้ทางสายเดินเรือแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวจึงต้องหยุดไป แต่พอมาในตอนนี้สถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาร์มีความต้องการสินค้ามากทำให้มองเห็นโอกาสทำให้มีการเปิดท่าเรือใหม่อีกครั้ง

รอบนี้บริษัทเดินเรือที่เข้ามารายแรกเดิมเดินเรืออยู่ระหว่าง จ.กระบี่ ไปรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งบริษัทได้ขยายเส้นทางเดินเรือมายังระนองเพื่อเดินทางไปเมืองมะริด ประเทศเมียนมาร์ สำหรับระยะต่อไปถ้ามีสินค้ามากขึ้นจะไปถึง ทวาย ย่างกุ้ง บังกลาเทศ อินเดีย ซึ่งเป็นแผนงานที่ได้เตรียมการกันไว้แล้ว 

“ท่าเรือทวายถือเป็นเมกะโปรเจคท์ ขนาดใหญ่ ซึ่งมีหลายคนถามว่าถ้าที่ทวายเปิดท่าเรือระนองจะมีผลกระทบอะไรไหม ถ้ามองจะเปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนกับเรามีรถบัสขนาดใหญ่ แต่รถสองแถวรถมอเตอร์ไซค์ก็ยังใช้ได้ ซึ่งท่าเรือระนองก็เปรียบเหมือนสองแถวกับมอเตอร์ไซค์ ที่เป็นเรือแท็กซี่วิ่งไปส่งสินค้ายังท่าใหญ่”

ถ้ามีความต้องการใช้เรือมากขึ้น การท่าเรือจะมีการปรับขยายท่าให้รองรับเรือได้มากขึ้น โดยตอนนี้สินค้าที่ขนส่งไปจากท่าเรือระนองคือ เฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา ในจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี และยังมีสินค้าพวกปูน ปุ๋ย อุปกรณ์ก่อสร้าง ด้านสินค้านำเข้าจากเมียนมาร์จะเป็นสินค้าประเภทเกษตรกรรมเช่น ถั่ว ถ่าน

ท่าเรือจากเมียนมาร์ที่มายังท่าเรือระนองสะดวกคือ ท่าเรือเกาะสอง, มะริด, ทวาย, ย่างกุ้ง ที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งพื้นที่ทางเมียนมาร์ตอนใต้ถ้าขนส่งทางเรือแล้ว

กระจายสินค้าไปยังทางบกจะทำให้ต้นทุนในการขนส่งต่ำการที่ท่าเรือระนองเป็นพื้นที่ซึ่งไกลจากแหล่งผลิตสินค้าถือว่ามีผลกระทบ เพราะแต่ก่อนมีปัญหาด้านต้นทุนการขนส่งมายังท่าเรือจากหลายพื้นที่ในประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางจากชุมพรมาระนองมีเส้นทางแคบและคดเคี้ยว ทำให้การขนส่งสิ้นเปลืองน้ำมัน และใช้เวลามาก ซึ่งทางจังหวัดได้เห็นปัญหาเลยมีการขยายถนนให้เป็นสี่เลน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2559 โดยตอนนี้ทำไปได้ 50 เปอร์เซ็นต์

การขนส่งทางนี้ถือว่ามีจุดเด่นที่ได้เปรียบทั้งระยะทางและเวลา ในการขนส่งไปยังประเทศกลุ่ม “บิมสเทค” คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล และภูฏาน โดยแผนการในระดับโลกเรามองว่า จีนและอินเดียจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ถ้าสามารถเชื่อมโยงกันได้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะจังหวัดระนอง ที่ยังไม่มีท่าเรือในฝั่งอันดามัน ที่ใหญ่     

ในอดีตการเดินเรือส่วนใหญ่วิ่งไปยังอ่าวไทยผ่านช่องแคบมะละกา แล้วเข้าไปยังย่างกุ้งทะลุออกไปบังกลาเทศและอินเดีย ซึ่งจะไม่เข้ามายังเมืองท่าทางตอนใต้ของพม่า โดยระยะทางจากปากร่องน้ำมายังท่าเรือระนองใช้เวลา 2 ชั่วโมง ถ้าเทียบกับท่าเรือคลองเตย เรือจากปากร่องน้ำมายังท่าเรือใช้เวลา 2 ชั่วโมง ก็ยังมีการเดินเรือกันอย่างมากมาย ซึ่งถือว่าไม่เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ

ในเส้นทางการเดินเรือจากท่าเรือระนองไม่มีปัญหาเรื่องลมมรสุม แต่มีปัญหาในส่วนของจังหวัดระนองที่มีฝนตกชุก ทำให้การขนถ่ายสินค้าบางอย่างที่เปียกน้ำอาจมีปัญหา แต่ถ้าใช้การขนส่งสินค้าระบบตู้จะมีปัญหาน้อยลง ซึ่งความต้องการส่วนใหญ่ของประเทศปลายทางโดยเฉพาะเมียนมาร์ตอนนี้ต้องการอุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์

ตั้งแต่ปี 2555 ถึงตอนนี้ผู้ประกอบการในระนองมีการตื่นตัวมาตลอด การเดินเรือตอนนี้มีเดือนละ 1 เที่ยว แล้วจะเพิ่มความถี่ในการเดินเรือขึ้นมาตามความต้องการ ตอนนี้มีสายเดินเรือที่มาติดต่อแล้ว 2 ราย เพื่อขอขนสินค้าประเภทที่ใช้ในการทำถนน และบรรดาเครื่องสุขภัณฑ์ต่าง ๆ ไปยังเมียนมาร์

ตรงนี้ทางการท่าเรือเองต้องมาพิจารณาด้วยเพราะการขนส่งหินต่าง ๆ เราต้องคำนึงถึงสิ่งแวด ล้อมด้วยแต่ละปีทางท่าเรือระนอง ตั้งเป้าไว้จะมีการขนส่งตู้สินค้าปีละหนึ่งหมื่นตู้ โดยสิ่งเหล่านี้จะสร้างประโยชน์ให้กับคนระนอง ในด้านเศรษฐกิจ และระบบการขนส่งที่จะสร้างงานในพื้นที่ให้มากขึ้น             

ธนวัฒน์ พันธุ์โกศล กรรมการบริหาร บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ผู้ส่งออกแผ่นยางพารา มองว่า ก่อนหน้านี้บริษัทส่งออกไปยังท่าเรือสุราษฎร์ธานี แล้วเพิ่งมาเปิดโรงงานที่ชุมพร แล้วขนส่งไปยังท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งพอมีท่าเรือระนองทางบริษัทพร้อมเต็มที่ในการใช้ท่าเรือระนองในการขนส่งสินค้า เพราะท่าเรือนี้ถือเป็นท่าเรือที่ดีในการส่งออกฝั่งอันดามัน จากแต่เดิมส่งออกฝั่งอันดามันที่ท่าเรือกระบี่และท่าเรือภูเก็ต เพื่อส่งออกไปยังท่าเรือปีนัง 

โดยคาดว่าจะลดต้นทุนการขนส่งจากเดิมได้ 10–20 เปอร์เซ็นต์ แล้วด้วยความที่ท่าเรือระนองรองรับได้ประมาณ 500 ตัน ยิ่งส่งออกได้มากขึ้น ถ้ามองในระบบขนส่งมายังท่าเรือระนองช่วงแรกอาจลำบาก แต่มีแผนในการปรับปรุงให้ดีขึ้น 

จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งของท่าเรือระนอง เพราะเรามองไว้ว่าจะต้องมีการขนส่งที่มากขึ้น ซึ่งถ้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกแค่ตอนนี้ยังไม่เพียงพอในอีก 5–10 ปีข้างหน้า ในด้านผู้ประกอบการหน้าที่ต่อไปคือ การทำตลาดในกลุ่มประเทศ “บิมสเทค” เพื่อให้เกิดการส่งออกที่มากขึ้น

ด้าน ยู ทัน ทัน เลขาธิการหอการ ค้าและสภาอุตสาหกรรม จ.มะริด ประเทศ เมียนมาร์ กล่าวว่า ปัจจุบันทางพม่าใช้การขนส่งที่ท่าเรือปีนังไปยังกลุ่มประเทศที่ 3 ซึ่งการเปิดท่าเรือระนองเป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เพราะมะริดเป็นจังหวัดที่มีสินค้าประมงมากที่สุดในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งร้อยละ 80 อาหารทะเลส่งเข้าประเทศไทยทางจังหวัดระนอง ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ทำการแปรรูปและส่งไปยังประเทศที่สาม  

โดยทั่วไปการเดินเรือจากมะริดเข้ามาไทยใช้เวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งสินค้าไทยที่จะเข้าไปยังมะริด ส่วนใหญ่เป็นวัสดุก่อสร้างเช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น นอกจากนั้นยังนำเข้าอุปกรณ์ประมงจากไทย เพราะที่มะริดมีเรือประมงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอวนหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมแซมเรือ

คนที่มะริดมองการเปิดเสรีอาเซียน เป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะเราจะได้อยู่บ้านหลังเดียวกันช่วยกันพัฒนา และมีโอกาสร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้มีคนไทยมาเยี่ยมจังหวัดมะริดแล้วกว่า 28 คณะ   

วิสุทธิ์ ภูริยะพันธ์ จากบริษัท เอส.เอ.เคไลน์ จำกัด ที่ให้บริการการเดินเรือมองว่า ท่าเรือระนองมีร่องน้ำลึก 8 เมตร เส้นทางเดินเรือถือเป็นทางโบราณที่มีการติดต่อกันมานาน เราแค่เอาเส้นทางเดิมมาเดินเรือใหม่ และเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยในการเดินเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และความเร็วมากขึ้น เพื่อสนองต่อลูกค้าได้มากขึ้น

ลูกค้าที่ใช้การขนส่งที่ท่าเรือระนองมีทั้งอุปกรณ์ก่อสร้าง อาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งเดิมบริษัทเดินเรือประจำในเส้นทางท่าเรือกระบี่ไปยังปีนัง ประเทศมาเลเซีย เลยมีแผนขยายมาทางระนองเพื่อไปเมียนมาร์ และขยายพื้นที่เดินเรือในมหาสมุทรอินเดีย 

ใน 3 ปีนี้ ในเส้นทางเดินเรือมีการขยายการขนส่งไปเรื่อย ๆ แม้หลายคนมองว่าเส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางเดินเรือหลัก แต่เรามองว่าควรเริ่มต้นจากเล็ก ๆ ไปหาใหญ่ โดยเรือเราอาจขนาดไม่ใหญ่มากเพื่อให้บริการบริษัทที่มีขนาดเล็กได้ ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะใช้ระบบการเดินเรือที่นี่มาก เพราะสินค้าชิ้นเล็ก ๆ หรือของมีน้อยก็ไปกับเรือได้

ท่าเรือระนองถือเป็นอีกทางเลือกในการขนส่งสินค้า และเป็นอีกช่องทางโอกาสของการทำตลาดของธุรกิจเอสเอ็มอี ในเส้นทางของเมียนมาร์และมหาสมุทรอินเดีย.   

...............................................................................................

คุณสมบัติเด่น ‘ท่าเรือระนอง’

ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์มีความยาวหน้าท่า 134 เมตร กว้าง 26 เมตร รับเรือได้ขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส จอดเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ ส่วนท่าเทียบเรือตู้สินค้า มีความยาวหน้าท่า 150 เมตร กว้าง 30 เมตร รองรับเรือสินค้าได้ขนาดไม่เกิน 12,000 เดตเวทตัน

ร่องน้ำเดินเรือตั้งแต่ทิศตะวันตกของเกาะช้าง จนถึงท่าเทียบเรือระยะทาง 28 กิโลเมตร มีความลึกร่องน้ำ 8 เมตร จากระดับน้ำทะเลลงต่ำ ความกว้างร่องน้ำ 120 เมตร

การขนส่งเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย

ทางถนน ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 เพชรเกษม กรุงเทพฯ-ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 568 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข 4010 ที่ได้รับการปรับปรุงเป็นถนนมาตรฐานแล้วบริเวณบ้านน้ำตก ระยะทาง 13 กิโลเมตร ถึงท่าเรือระนอง

ทางรถไฟ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการขนส่งระบบรางจากทุกภูมิภาค มายังสถานีบรรทุกขนถ่ายตู้สินค้า (Container yard) สถานีรถไฟวิสัย อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร และขนส่งต่อเนื่องทางถนนจากชุมพร

มายังท่าเรือระนอง ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร

ทางน้ำ  สามารถขนส่งทางน้ำฝั่งอ่าวไทยมายังท่าเรือใกล้เคียง เช่น ที่ท่าเรือประจวบ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และท่าเรือจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้วขนส่งทางถนนมายังท่าเรือระนอง 

ศราวุธ ดีหมื่นไวย์

ที่มา นสพ.เดลินิวส์ โดย คุณศราวุธ ดีหมื่นไวย์

สนใจบริการ GPS TRACKING ดำเนินงานโดยทีมวิศวกร ทำให้ยานยนต์ไม่พลาดการเชื่อมต่อต้องบจก.ไทย พรอสเพอรัส ไอที เท่านั้น